ประวัติ ของ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

แนวคิดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนำโดยพรรคร่วมรัฐบาลได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช และเป็นช่วงที่คดียุบพรรคการเมืองกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ได้เสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้นนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ต่างก็ออกมาสนับสนุนโดยมุ่งประเด็นหลักไปยังกรณีที่ทั้งสองพรรคอาจถูกยุบ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานยกร่างรัฐธรรมนูญออกมากล่าวว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ต้องตอบให้ชัดว่าแก้ไขตรงไหน เพื่อใคร แก้ไขแล้วนักการเมืองหรือประชาชนได้ประโยชน์[1]

มีนาคม 2551

วันที่ 20 มีนาคม เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งรับพิจารณาคดีใบแดงนายยงยุทธ พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวว่าจากการพูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ของภาคเหนือ เห็นว่าหากมีการยุบพรรคพลังประชาชน จะขอหารือและเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ความเห็นดังกล่าวทำให้ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง ออกมาตำหนิว่าเป็นการพูดที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะพรรคเคารพการตัดสินของศาล และไม่เคยมีความคิดจะยุบสภา[2]

วันที่ 22 มีนาคม พรรคพลังประชาชนเริ่มหารือเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสามัญประจำปี โดยเฉพาะมาตรา 237 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณียุบพรรค[3] นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่าถึงเวลาต้องแก้ และควรแก้ในประเด็นเดียวก่อน เพื่อปลดล็อกทางการเมือง[4]

วันที่ 24 มีนาคม นายชัย ชิดชอบ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่าที่ประชุมได้หยิบยกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน และเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้ กกต.มีทางออก จักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามที่นายสมัครให้แนวทางไว้ คือ เว้นเฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์ ที่เหลือคงแก้ไขทั้งหมดโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก พร้อมกับกล่าวว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องยุบพรรค[5]

เมษายน 2551

วันที่ 1 เมษายน ที่ประชุมพรรคพลังประชาชนมีมติเห็นชอบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยปรับแก้ 13 มาตรา ใน 7 ประเด็น ยกเลิกมาตรา 309 เปิดทางให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 สู้คดีขอสิทธิเลือกตั้งคืน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550[6]

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมพรรคพลังประชาชนมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายของนายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมบางส่วน ส่วนอีกฝ่ายคือ ส.ส.และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บางส่วนที่ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ทั้งหมด แต่ที่ประชุมไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจาก ส.ส.ทยอยเดินออกจากห้องประชุม จึงมีผู้เสนอให้ยุติการประชุม มีการคาดหมายว่าการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะแล้วเสร็จทันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินคดียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน

หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน[7] มีทั้งนักวิชาการด้านกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยระบุว่าอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองเพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง

ส.ส.ร. มีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งมองว่าทำประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะมาตรา 237 วรรคสอง และมาตรา 309 และขู่ว่าอาจมีการยื่นถอดถอนตามมาตรา 270-271 ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีต ส.ส.ร.และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หารือกับคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะออกแถลงการณ์โดยไม่พูดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม แต่จะให้หลักนิติศาสตร์ที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ แต่ไม่ควรทำเมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้น เพราะจะเป็นการทำลายระบบกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ด้วยการอาศัยเสียงข้างมากของสภา

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า วิปฝ่ายค้านมีมติไม่เห็นด้วยที่วิปรัฐบาลเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ สังคม รัฐบาลควรไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุผลที่แท้จริงคือรัฐบาลต้องการแก้ไขมาตรา 309 เพื่อหวังให้คนที่ถูกดำเนินคดีในการพิจารณาของ คตส. มีช่องทางในการต่อสู้ และเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวสะท้อนชัดเจนว่า ระบอบทักษิณพยายามทำทุกวิถีทางที่จะไม่ขึ้นศาลหรือไม่เข้าพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม เป็นการหาวิธีแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง